เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 4. ภยเภรวสูตร

ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า "ข้าแต่ท่านพระโคดม เสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ1 อยู่ลำบาก ทำวิเวก2ได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์
ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิ3ให้หวาดหวั่น"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พราหมณ์ ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ อยู่ลำบาก ทำวิเวกได้ยาก
ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้
สมาธิให้หวาดหวั่น"

เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า 16 ประการ

[35] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "พราหมณ์ เมื่อก่อน เราเป็นโพธิสัตว์
ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความดำริว่า 'เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ อยู่
ลำบาก ทำวิเวกได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำ
จิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิให้หวาดหวั่น' เรานั้นได้มีความดำริว่า 'สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีกายกรรมไม่บริสุทธิ์
ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์ พระอริยะ4เหล่าใดมีกายกรรมบริสุทธิ์
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดา
พระอริยะเหล่านั้น'

เชิงอรรถ :
1 ป่าโปร่ง (อรญฺญ) หมายถึงป่าอยู่นอกเสาเขตเมืองออกไปอย่างน้อยชั่ว 500 ลูกธนู ป่าทึบ (วนปตฺถ)
หมายถึงสถานที่ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย เลยเขตหมู่บ้านไป (ม.มู.อ. 1/34/121, องฺ.ทุก.อ. 2/31/30)
2 วิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก(สงัดกาย) (ม.มู.อ. 1/34/122, องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)
3 สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ (ม.มู.อ. 1/34/122, องฺ.ทสก.อ. 3/99/370)
4 พระอริยะ ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวก (ม.มู.อ. 1/35/123) และดูเทียบเชิงอรรถ
ข้อ 2 หน้า 2 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :34 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 4. ภยเภรวสูตร

พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์นั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้มีความปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (1)
[36] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า 'สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์ ฯลฯ มีมโนกรรมไม่บริสุทธิ์ ฯลฯ มีการ
เลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีการเลี้ยง
ชีพไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มี
การเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ พระอริยะเหล่าใดมีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น'
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์นั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (2-3-4)
[37] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า 'สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีความกำหนัดกล้าในกามคุณทั้งหลาย
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญ
เหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษ
ของตนคือมีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น และมีความกำหนัดกล้าในกามคุณ
ทั้งหลาย ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ไม่มีความกำหนัด
กล้าในกามคุณทั้งหลาย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เรามิใช่เป็นผู้มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น พระอริยะเหล่าใดไม่มีปกติเพ่ง
เล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น'
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ไม่มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
นั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (5)
[38] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า 'สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีจิตวิบัติ มีความดำริชั่วร้าย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความ
ขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีจิตวิบัติและมีความดำริชั่วร้าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :35 }